วันอังคารที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2556

การใช้ตัวการันต์




                   เมื่อพูดถึงคำว่า การันต์แล้ว บางคนคิดว่าเป็นอย่างเดียวกับ ทัณฑฆาตความจริง การันต์หมายถึง ตัวอักษรที่ไม่ต้องการออกเสียง ถ้าเป็นคำบาลีและสันสกฤต คำว่า การันต์หมายถึง เสียงที่อยู่พยางค์สุดท้ายของคำ เพราะคำว่า การันต์เกิดจากการนำคำว่า การซึ่งแปลว่า ตัวอักษรกับ อันตซึ่งแปลว่า ที่สุดมาสนธิเข้าด้วยกัน เช่น คำว่า ชายาเป็นอาการันต์ เพราะพยางค์สุดท้ายลงเสียง อา ราชินีเป็น อีการันต์ คือคำลงท้ายด้วยเสียงอี ส่วนทัณฑฆาต หมายถึงเครื่องหมาย “ ์ ” ซึ่งใช้เขียนไว้บนตัวอักษร หรือตัวการันต์สำหรับบังคับไม่ให้ออกเสียง หรือจะกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ การันต์หมายถึง ตัวอักษรที่ไม่ออกเสียง ซึ่งมีไม้ทัณฑฆาตกำกับอยู่ ตัวการันต์นี้เป็นพยัญชนะตัวเดียวก็มี เป็นอักษรควบหรือนำก็มีอักษร ๒ ตัว หรือ ๓ ตัว เรียงกันก็มี มีรูปสระกำกับอยู่ด้วยก็มี ถ้าหากเราไม่ต้องการออกเสียงคำใด ก็ใส่ไม้ทัณฑฆาตบนอักษรตัวนั้น เพื่อเป็นการฆ่าเสียง
เหตุที่เราเก็บเอาตัวการันต์ไว้ทั้ง ๆ ที่เราไม่ต้องการออกเสียงนั้นก็เพื่อรักษารูปเดิมของศัพท์ให้คงที่อยู่ เพื่อจะได้รู้รูปศัพท์เดิมว่าเป็นอย่างไร นับว่าเป็นประโยชน์ในด้านนิรุกติศาสตร์มาก เพราะจะทำให้เราพอสืบหาที่มาของคำได้ว่ามีต้นเค้ามาจากคำอะไรในภาษาอะไร เช่น คำว่า ประเทศถ้าเราเขียนตามเสียงคนทั่ว ๆ ไปที่มิได้ศึกษาเล่าเรียน ก็คงเป็น ปะเทดหรือ อากาศก็คงเขียนเป็น อากาดนาน ๆ เข้าก็เลยไม่ทราบที่มาของคำ ทำให้การศึกษาในด้านภาษาศาสตร์หรือนิรุกติศาสตร์ ต้องชะงักงันอย่างแน่นอน คำบางคำออกเสียงอย่างเดียวกัน แต่รากศัพท์เดิมต่างกัน ถ้าเราเขียนรูปเดียวกันหมด เราจะไม่ทราบความหมายที่แท้จริงของคำนั้นเลย เช่น คำที่ออกเสียงว่า กานอาจเขียนเป็น การ” “กาล” “กานต์” “กาญจน์” “การณ์เป็นต้นก็ได้ แต่ละคำล้วนมาจากภาษาบาลีด้วยกัน แต่ความหมายต่างกันลิบลับ ถ้าเราเขียนตามเสียงพูดเช่น กานสะกดเหมือนกันหมด คงจะก่อให้เกิดความยุ่งยากในการตีความอย่างมากทีเดียว
ศัพท์ที่มีตัวการันต์นั้น โดยมากมักจะมาจากภาษาบาลีและสันสกฤต หรือมิฉะนั้นก็เป็นศัพท์ในภาษาตระกูลยุโรป ศัพท์ต่าง ๆ เหล่านี้ ในภาษาเดิมเขามักจะออกเสียงเป็นหลายพยางค์ แต่เมื่อเรานำมาใช้ในภาษาไทย โดยเหตุที่เราพูดช้ากว่าเขา เราจึงต้องการคำที่น้อยพยางค์ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงได้เอาพยางค์หลังมาเป็นตัวสะกดเสียบ้าง เป็นตัวการันต์เสียบ้าง ครั้นจะทิ้งตัวการันต์เสีย ก็เกรงว่าจะเสียรูปศัพท์เดิม อันจะเป็นเหตุให้ความหมายคลาดเคลื่อนไป
เรื่องตัวสะกดกับตัวการันต์นั้นอยู่ข้างจะปะปนกันมากเหมือนกัน จึงขอชี้แจงเรื่องนี้สักเล็กน้อย ดังนี้
                      ๑. พยัญชนะตัวเดียว ถ้าไม่ต้องการให้เป็นตัวสะกด หรืออ่านเป็นอีกพยางค์หนึ่งแล้วก็นับว่าเป็นตัวการันต์ ซึ่งจำต้องใส่ไม้ทัณฑฆาตลงไป เช่น ต้นโพธิ์การันต์ที่ตัว ธิก็อ่านว่า ต้น-โพถ้าต้องการออกเสียงเป็นตัวสะกด ก็ไม่ต้องมีไม้ทัณฑฆาต เช่น อำเภอศรีมหาโพธิก็อ่านว่า อำ-เพอ-สี-มะ-หา-โพด
                       ๒. อักษรควบทั้งปวง ต้องนับว่าเป็นตัวสะกดทั้งคู่ เว้นแต่อักษรควบไม่แท้ ที่มีเสียงตัวหน้าอ่อน คือ ร ควบกับตัวอื่น ถ้าต้องการเอาตัว ร สะกดตัวเดียว เช่น ธรรม์ (ม การันต์) สรรค์ (ค การันต์) สรรพ์ (พ การันต์) ฯลฯ อย่างนี้ตัวหน้า คือตัว ร เป็นตัวสะกด ตัวหลังคือ ม ค พ เป็นตัวการันต์ อย่างนี้ต้องใส่ไม้ทัณฑฆาต
                       ๓. อักษรนำทั้งปวง ตัวนำเป็นตัวสะกด ตัวตามหลังถ้าไม่เป็นพยางค์ต่อไป ต้องนับว่าเป็นตัวการันต์ เช่น ยักษ์ สัตว์ สงฆ์ อย่างนี้ ตัว ก ต ง เป็นตัวสะกด ตัวหลัง คือ ษ ว ฆ เป็นตัวการันต์
ตามปรกติในปัจจุบัน คำที่มาจากภาษาบาลีและสันสกฤต ไม่นิยมการันต์กลางคำนอกจากโบราณเท่านั้นที่มีเขียนอยู่บ้าง เช่น สาส์น (การันต์ตัว ส) มาร์ค (การันต์ตัว ร) ฯลฯ แต่คำที่มาจากภาษาตระกูลยุโรปเรานิยมใส่ไม้ทัณฑฆาตบนคำที่เราไม่ต้องการออกเสียง ซึ่งอาจอยู่ตรงไหนของคำก็ได้ เช่น ฟิล์ม ชอล์ก อาร์ต เกียร์ ฯลฯ
ตัวการันต์พอจะจำแนกออกไปได้เป็น ๖ ชนิดด้วยกัน คือ
         ๑. เป็นพยัญชนะตัวเดียว เช่น สงฆ์ สิงห์ องค์ ศิลป์ ไมล์ ฯลฯ
         ๒. เป็นพยัญชนะ ๒ ตัวเรียงกัน เช่น เมืองกาญจน์ สายสิญจน์ ฯลฯ
         ๓. เป็นพยัญชนะ ๓ ตัวเรียงกัน เช่น พระลักษมณ์
         ๔. เป็นอักษรควบแท้ เช่น พักตร์ (หน้า) พระอินทร์ ฯลฯ
         ๕. เป็นอักษรควบไม่แท้ เช่น ธรรม์ สรรพ์ สรรค์ ครรภ์ ฯลฯ
          ๖. เป็นอักษรนำ เช่น เอกลักษณ์ สัญลักษณ์ ฯลฯ


ที่มา : ภาษาไทยไขขาน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แพร่พิทยา. ๒๕๒๘. หน้า ๓๕๖-๓๕๘.


4 ความคิดเห็น:

  1. ได้ความรู้มากๆค่ะ

    ตอบลบ
  2. ได้ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับตัวการันต์มากเลยค่ะ ^^"

    ตอบลบ
  3. การใช้ตัวการันต์เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้ามเลยครับ ได้ความรู้มากครับ

    ตอบลบ
  4. ข้อมูลดีมากครับ

    ตอบลบ